translate

ท้องอืด แน่นท้อง อาการที่คนปัจจุบันเป็นบ่อย

ความหมายและความสำคัญ
ความหมาย คือ รู้สึกอึดอัด ไม่สบายในท้องภายหลังการรับประทานอาหาร บางคนเรียกว่า “โรคกระเพาะอาหาร”
ความสำคัญ คือ คนมีอาการเช่นนี้กันมาก ต้องแยกให้ออกว่า กรณีใดอาจเป็นโรคที่มีอันตราย กรณีใดไม่เป็น

สาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
ยา
อาหาร
โรค
อื่นๆ

รายละเอียดของแต่ละรายการจะกล่าวไว้ในหัวข้อเรื่อง การรักษาและป้องกัน
อาการของโรค

อาการหลักคือ ความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายในท้องภายหลังการรับประทานอาหาร ในทางการแพทย์ อาการอึดอัด หรือแสบท้อง ร้อนในท้อง
นับเป็น “อาการปวดท้อง” แบบหนึ่ง เพียงแต่อาการไม่รุนแรงนัก คนจึงไม่เรียกว่า เจ็บหรือปวด
อาการอื่นที่เกิดร่วมด้วย ได้แก่ เรอบ่อย ผายลมบ่อย ท้องใหญ่ขึ้น ลักษณะเด่นของผู้เป็นโรคนี้ได้แก่ ไม่มีอาการทางกายอื่นๆ
กล่าวคือ รับประทานอาหารได้ตามปกติ น้ำหนักไม่ลด ส่วนมากมักอ้วนไป นอกจากจะรู้สึกอึดอัดในท้องแล้ว บางคนแม้รู้สึกว่าท้องใหญ่ขึ้นแต่ก็ยุบได้
คนที่มีอาการเรอบ่อย เมื่อเรอแล้วจะสบายขึ้นชั่วคราว คนที่มีอาการผายลมบ่อยเมื่อผายลมแล้วท้องก็ยุบ ส่วนมากเมื่อตื่นนอนเช้ายังสบายดี
 หลังอาหารเข้าหรือเมื่อเริ่มทำงาน จึงเริ่มอืดอัดในท้อง เป็นอยู่นานหลายชั่วโมง แต่ถ้าทำงานเพลิน หรือยุ่งอยู่กับงานอาจลืมไปว่ามีอาการ
กรณีที่เป็นห่วงว่าจะมีโรคร้าย หรือมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักลด ถ่ายอุจจาระผิดไปจากเดิม
เหนื่อย เพลีย ซีด มีไข้ เป็นต้น ควรหาแพทย์เพื่อหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุ เนื่องจากบางคนอาจมีโรคอื่น
เช่น คนที่ท้องอืดและเหนื่อยหลังอาหารอาจเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

การรักษาและป้องกัน
กรณีที่มีอาการมาไม่นาน หรือหลายๆเดือนมีอาการครั้ง รับประทานอาหารได้ดีหรือเหมือนเดิม และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ให้สำรวจหาสาเหตุง่ายๆต่อไปนี้
การใช้ยา ยาที่ใช้รักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคปวดหลังปวดข้อ อาจทำให้เกิดอาหารท้องอืดได้ (ถ้าอาการมากจึงปวดท้อง ดูเรื่องกระเพาะอาหารอักเสบ)
เมื่อเลิกใช้ยาอาการจะหายไปภายในหนึ่งหรือสองวัน ยาปฏิชีวนะบางชนิดก็มีผลทำนองเดียวกัน ไม่ใช่การแพ้ยา แต่เป็นผลข้างเคียง เมื่อรับประทานยาครบแล้ว
อาการก็จะหายไปภายในหนึ่งถึงสองวัน บางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ อาจมีโรคประจำตัวพร้อมกันหลายโรค
เช่น โรคหัวใจ ความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ต้องรับประทานยาหลังอาหารหลายเม็ด ทำให้ต้องดื่มน้ำมากหลังอาหาร
หากเลื่อนเวลารับประทานยาหลังอาหารออกไป เป็นเวลาหลังอิ่มอาหารแล้วอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง อาการท้องอืดอาจดีขึ้น โปรดทราบว่าหลังอาหารจะมีอาหารอยู่ในกระเพาะไม่น้อยกว่า 2-3 ชั่วโมง จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่ากระเพาะจะว่าง
บางคนมีอาการท้องผูกแบบหลายวันถ่ายครั้ง พยายามรักษาอาการท้องผูกด้วยการดื่มน้ำมากๆ และรับประทานผักและผลไม้มากๆ
นอกจากไม่ทำให้ท้องผูกดีขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดอาการท้องอืดจากการรับประทานมากเกินไปได้ด้วย ถ้าเรื่องนี้เป็นสาเหตุเมื่อเลิกพฤติกรรมนี้ได้
อาการก็จะหายไปภายใน 2-3 วัน
การรับประทานอาหารมื้อใหญ่เกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันสูง รีบร้อนในการรับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารเลยเวลาที่เคยทำให้หิวมากหรือหายหิวแล้ว
 จะทำให้เกิดอาการท้องอืดหลังอาหาร หากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ อาการก็จะหายไป หรือดีขึ้นมากน้อยแล้วแต่จะแก้ไขได้เพียงใด
หากสำรวจและแก้ไขตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่อาจมีอยู่ แต่เมื่อแพทย์ตรวจแล้วไม่พบว่ามีโรค ก็ควรจะยุติ และหาทางแก้ไขดังต่อไปดังนี้

ทบทวนเรื่องที่กล่าวข้างต้นอีกครั้ง สาเหตุเป็นเรื่องสำคัญ การรักษาอาการท้องอืดเป็นเรื่องรอง เพราะเป็นเพียงอาการที่น่ารำคาญเท่านั้น
ผู้ที่ตื่นนอนเช้าสบายดี แต่มีอาการท้องอืดชัดเจนหลังอาหารบางมื้อ ควรแก้ไขโดยการทำให้อาหารมื้อที่ทำให้เกิดอาการมีขนาดเล็กลง
 เช่น รับประทานเพียงของคาว งดขนมหรือผลไม้หลังอาหาร และขณะรับประทานอาหารหรือเมื่ออิ่มอาหารใหม่ๆควรดื่มน้ำแต่น้อย
ไม่เกินหนึ่งในสี่แก้ว เป็นต้น การงดการพูดคุยเรื่องที่ต้องใช้ความคิดในขณะรับประทานอาหารก็อาจช่วยได้
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นเพียงอาการที่ทำให้รำคาญ การใช้ยาจึงควรใช้เท่าที่จำเป็น เลือกยาที่มีโทษน้อยที่สุด และให้สังเกตว่า
อาการที่ดีขึ้นเป็นผลจากยาชัดเจนจึงควรใช้ ขอให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ยา ดังต่อไปนี้
ยาลดกรด ทั้งชนิดที่เป็นยาน้ำขาว และยาประเภทเป็นเม็ดสำหรับเคี้ยว มีโทษน้อยกว่ายาชนิดอื่นๆ ต้องใช้ในขนาดมากพอจึงจะได้ผล
 เช่น สองช้อนโต๊ะ หรือสามสี่เม็ดเคี้ยว ขณะมีอาการ หากได้ผลจริงอาการควรจะดีขึ้นอย่างชัดเจนภายใน 10-15 นาที่ หากใช้เวลาร่วมชั่วโมงจึงดีขึ้น
น่าจะหายเองมากกว่าหายเพราะยา ยานี้ควรใช้เฉพาะขณะที่มีอาการเท่านั้น ไม่ควรใช้ตามที่เขียนไว้ที่ฉลากยาว่าวันละเท่านั้นเท่านี้ครั้ง
อย่างไรก็ตามหากใช้ยานี้แล้วได้ผลดี แต่อาการกลับมาเร็ว (เพราะยาหมดฤทธิเร็ว) ควรใช้ยาลดการหลั่งกรด เช่น รานิติดีน (Ranitidine) หนึ่งเม็ดวันละสองครั้ง จะสะดวกกว่า ได้ผลดีกว่า และมีโทษน้อยกว่า โดยที่ค่าใช้จ่ายก็ไม่ต่างกัน
ยาธาตุน้ำแดง (Mist. carminative) ตัวยามีผลสองอย่างคือ ทำให้รู้สึกร้อนในท้อง และทำให้เรอง่าย บางคนชอบที่ได้ความรู้สึกแบบนี้มาทดแทนอาการท้องอืด และเรอออกทำให้ท้องสบายขึ้นชั่วคราว การใช้เป็นครั้งคราวเวลามีอาการก็ใช้ได้หากชอบ แต่การใช้เป็นประจำวันละเท่านั้นเท่านี้ครั้งตั้งแต่ก่อนมีอาการ ไม่เกิดประโยชน์อะไร และการเรอบ่อยๆอาจจะทำให้แสบร้อนอกและคอ เป็นโทษมากกว่า
ยาลดแก๊ส เช่น ตัวยาไซเมทิโคน (Simethicone) มีฤทธิช่วยกระจายให้แก๊สให้มีขนาดเล็กลง ถูกขับออกมาง่ายขึ้น หรือยาถ่าน (Ultracarbon) ที่ดูดซับแก็ส พอมีเหตุผลในการใช้บ้าง แต่ต้องใช้แบบสม่ำเสมอ เช่น วันละ 3-4 ครั้ง ควรทดลองเปรียบเทียบระยะที่ใช้ยากับระยะที่ไม่ใช้ยาว่าต่างกันหรือไม่ โดยใช้ยาหนึ่งสัปดาห์แล้วหยุดหนึ่งสัปดาห์ หากยังไม่แน่ใจ ทดลองสลับกันหลายรอบก็ได้ หากเห็นชัดเจนว่า ระยะที่ใช้ยาดีกว่า ก็สามารถใข้ต่อไปนานๆได้ ข้อเสียมีเพียงยาราคาค่อนข้างแพง
ยาลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น บัสโคพาน หรือ โนสปาร์ อาจได้ผลในบางคน ต้องใช้แบบป้องกันอาการ
คือ ต้องรับประทานก่อนอาหารมื้อที่มีอาการประมาณหนึ่งชั่วโมง หากได้ผลจะป้องกันอาการได้ ควรทดลองแบบมีระยะใข้ยาสลับกับหยุดยา ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องยาลดแก็ส
ยาระบาย เนื่องจากการถ่ายอุจจาระทำให้รู้สึกว่าท้องโล่ง ท้องยุบ บางคนจึงใช้ยาระยายเพื่อทำให้ถ่าย การใช้เป็นครั้งคราวพอใช้ได้
แต่ถ้าใช้บ่อยๆก็จะทำให้การถ่ายผิดปกติไป กลายเป็นปัญหาใหม่ หากมีอาการท้องผูกให้อ่านเรื่อง ท้องผูก
ยาที่มีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาที่ใช้กันด้วยความเข้าใจผิด เพราะอาการเหล่านี้แม้บางคนจะเรียกว่า อาหารไม่ย่อย
แต่ในความเป็นจริงการย่อยอาหารของคนที่มีอาการเช่นนี้ไม่มีข้อบกพร่องเลย (หากการย่อยอาหารบกพร่องจะผอมลง และถ่ายอุจจาระบ่อย)
จึงไม่มีประโยชน์ บางคนอาจรู้สึกใช้ยาเหล่านี้แล้วอาการดีขึ้น โปรดสังเกตว่ายาเหล่านี้มีส่วนผสมของยาชนิดอื่นด้วย
 เช่น ยาลดกรด ยาลดแก๊ส ยาลดการบีบตัวของลำไส้ หรือแม้แต่ยาระบาย จึงเป็นการรับประทานยาหลายอย่างโดยไม่จำเป็น
อาจได้ผลเสียโดยไม่ได้ผลดี และเป็นการใช้ยาแพงขึ้นโดยใช่เหตุ

0 ความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก

Tags

Link list